ตำรวจชั่ว มาเฟีย และเรื่องราวที่ไม่มีใครรู้ของการจลาจลสโตนวอลล์

ตำรวจชั่ว มาเฟีย และเรื่องราวที่ไม่มีใครรู้ของการจลาจลสโตนวอลล์

Be first to like this.

This post is also available in: English

การพูดถึงเรื่องราวประวัติศาสตร์ของเพศทางเลือกโดยไม่พูดถึงการจลาจลสโตนวอลล์เป็นเรื่องไม่ง่าย โดยเฉพาะในวาระครบรอบ 50 ปีหลังเหตุการณ์สำคัญอย่างปี 2019 แน่นอนว่าคุณอาจจะเคยได้ยินชื่อมาบ้างหรือเคยดูภาพยนตร์ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2015 แต่คุณรู้เรื่องเหตุการณ์ทั้งหมดจริงหรือเปล่า

แน่นอนว่าการจลาจลสโตนวอลล์นั้นก็ไม่ได้มีความเป็นระเบียบ ไม่มีศูนย์กลาง และทุกอย่างคือความยุ่งเหยิงเหมือนกับความเป็นเพศทางเลือกของเรา เหตุกาณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงปลายของยุค 1960 ที่ชาวอเมริกันเริ่มตื่นตัวเรื่องเพศมากขึ้นแต่เพศทางเลือกกลับประสบความยากลำบากอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลมีการติดตามการเคลื่อนไหวของเพศทางเลือกอย่างใกล้ชิด มีการสั่งปิดบาร์ และการจับกุมเพศทางเลือกทุกครั้งจะต้องปรากฎอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์

มีหลายกลุ่มที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อต่อสู้กับมลทินและการกดขี่ที่เกิดขึ้น หนึ่งในนั้นคือกลุ่ม Mattachine Society ในลอสแองเจลิส และมีอีกหนึ่งสาขาของกลุ่มในวอร์ชิงตันดีซีที่ได้รับการนำโดย Frank Kameny โดยที่นิวยอร์ค นายกคนหนึ่งชื่อ Robert Wagner ได้มีการผลักดันการไล่ล่าประชาชนที่เป็นเพศทาเลือกและบังคับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจับกุมใครก็ตามที่น่าสงสัยว่าเป็นเกย์โดยใช้ข้อหาพยายามขายหรือซื้อบริการทางเพศ ในช่วงเวลานั้น สถานที่ที่ปลอดภัยจากตำรวจของเพศทางเลือกคือบาร์เกย์ที่มีดูแลโดยกลุ่มมาเฟียที่สามารถจ่ายเงินเพื่อไม่ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการบุกรุกได้

กลุ่มมาเฟียเหล่านั้นเป็นเจ้าของร้าน Stonewall Inn และต้องจ่ายเงินให้กับเจ้าหน้าที่เป็นรายสัปดาห์เพราะพวกเขาไม่มีใบอนุญาตจัดจำหน่ายแอลกอฮอล์ นอกจากนั้นที่ร้านยังไม่มีน้ำใช้และไม่มีทางหนีไฟอีกด้วย แต่ด้วยความที่ในร้านมีพื้นที่ให้ออกท่าเต้นกันได้ ทำให้มีลูกค้าเข้ามาอยู่อย่างสม่ำเสมอ

แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังคงมีการตรวจเช็คร้านอยู่บ้างเป็นครั้งคราว โดยจะมีการตรวจเช็คบัตรประชาชนและจับกุมทุกคนที่สวมชุดแดร็ก เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยๆจนทุกคนเกิดความเคยชิน แต่ในคืนวันที่ 28 มิถุนายน 1969 ทุกคนหมดความอดทนกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ในขณะนั้นที่ร้านมีลูกค้าอยู่ราว 200 คน และพวกเขาไม่เต็มใจที่จะร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ — ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะการตรวจเช็คครั้งนี้เกิดขึ้นดึกกว่าทุกที และคนในร้านน่าจะเริ่มเมากันพอสมควร มีการรวมตัวกันเกิดขึ้นที่ด้านนอกของร้าน มีการใช้ความรุนแรงและปาข้าวของขนาดเล็ก (ผู้คนที่เห็นเหตุการณ์บอกว่ามีการโยนเหรียญเพ็นนีใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมกับตะโกนว่า “นี่เงินใต้โต๊ะของพวกคุณ!”) และกลายมาเป็นของชิ้นใหญ่ขึ้น (อย่างขวดแก้วหรือก้อนอิฐ)

ในบางรายงานบอกว่ามีผู้หญิงคนหนึ่ง — น่าจะเป็น Stormé DeLarverie (อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเธอได้ที่นี่) — ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัว และเธอได้ตะโกนใส่กลุ่มผู้ชุมนุมว่า “ทำไมพวกคุณไม่ทำอะไรกันเลย” และนั่นคือ”จุดเปลี่ยน”ในคืนนั้น

เกิดการปะทุของความไม่พอใจท่ามกลางกลุ่มผู้ชุมนุมและเริ่มมีการพยายามผลักรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ ตำรวจพยายามหลบหลังโต๊ะด้านในบาร์ และผู้ชุมนุมเริ่มทำการจุดไฟโดยใช้หนังสือพิมพ์และยัดเข้าไปในร้านผ่านทางกระจก หลังจากนั้นกองกำลังเสริมของเจ้าหน้าที่ก็ตามมาและพวกเขาเริ่มทำร้ายทุกคนที่พวกเขาคว้าตัวได้

การจลาจลยังคงมีต่อไปจนกระทั่งคืนที่สอง และมีผู้พบเห็นเหตุการณ์มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นครั้งแรกที่มีการแสดงความรักระหว่างเพศเดียวกันในที่สาธารณะ เหมือนกับว่าการจลาจลในครั้งนั้นเป็นงานพาเหรดไพรด์ครั้งแรกเลยทีเดียว

ฝนเกิดตกหนักในคืนที่สาม ทำให้กิจกรรมต่างๆต้องหยุดลง แต่ในช่วงหนึ่งเดือนถัดจากนั้น นักเคลื่อนไหวมีความกล้ามากขึ้น พวกเขาเริ่มแสดงออกถึงความรักอย่างเปิดเผย ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดฝันว่าจะเกิดขึ้นจริง กลุ่มเกย์ต่อต้านอย่าง Gay Liberation Front และ Gay Activists Alliance ก็ได้เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นเช่นกัน

ในปีถัดมา วันครบรอบเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์ถูกรำลึกคู่กับวันถนนคริสโตเฟอร์ โดยมีการเดินขบวนเกิดขึ้นที่นิวยอร์ค ลอสแองเจลิส และชิคาโก และในปี 1971 การเดินขบวนเริ่มมีการแพร่หลายมากขึ้นในหลายรัฐ และนั่นเองคือจุดเริ่มต้นของยุคการเดินขบวนไพรด์

คุณเคยรู้เรื่องเบื้องหลังเหตุการณ์จลาจลสโตนวอลล์มาก่อนหรือเปล่า

Quantcast