ศาลสูงสุดของญี่ปุ่นยันให้คนข้ามเพศต้องทำหมันและผ่าตัดแปลงเพศ
This post is also available in: English
4 ผู้พิพากษาจากศาลสูงสุดแห่งญี่ปุ่นตัดสินเมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมาโดยบังคับให้คนข้ามเพศต้องทำหมันก่อนที่จะทำการเปลี่ยนเพศตามกฎหมายได้
Takakito Usui คือชายข้ามเพศชาวญี่ปุ่น (ด้านขวาในภาพด้านบน) ซึ่งเขาต้องการเปลี่ยนแปลงเพศในเอกสารราชการโดยไม่จำเป็นต้องผ่านการทำหมัน เขาได้ยื่นอุธรณ์ต่อศาลสูงสุดแห่งญี่ปุ่นและถูกปฏิเสธการอุธรณ์ดังกล่าว
กฎหมายบทหนึ่งจากปี 2003 ที่เรียกว่าข้อบังคับ 111 เขียนไว้ว่าคนข้ามเพศที่ต้องการเปลี่ยนเพศตามกฎหมายจะต้อง”มีระบบอวัยวะเพศที่ไม่สามารถสืบพันธุ์ได้อย่างถาวร” นอกจากนั้นพวกเขายังต้อง “มีอวัยวะเพศที่ดูเหมือนกับอวัยวะเพศของเพศตรงข้าม” อีกด้วย
Usui ต้องยอมรับการตัดสินของศาลสูงสุดครั้งนี้ว่าเป็นที่สุด โดยเขาได้พูดกับสื่อหลังจากรับฟังคำตัดสินว่า “สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่ว่าคุณได้รับการผ่าตัดหรือไม่ แต่ควรจะเป็นวิธีการใช้ชีวิตที่คุณต้องการในฐานะคนๆหนึ่ง”
เหตุผลในการตัดสินของศาลสูงสุดแห่งประเทศญี่ปุ่นอ้างว่าการทำหมันนั้นมีเป้าหมายเพื่อป้องกัน “ความสับสน” ในความสัมพันธ์ ทั้งในสังคมและกับเด็กๆ อย่างไรก็ตามศาลเองเห็นด้วยว่าการบังคับทำหมันนั้นถือเป็นการละเมิดอย่างหนึ่ง ซึ่งหมายความว่าข้อบังคับดังกล่าวควรจะถูกนำไปพิจารณาอีกครั้ง
ศาลชั้นสูงเขียน “ความทุกข์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาในด้านตัวตนทางเพศถือเป็นปัญหาของสังคมส่วนรวม ซึ่งรวมถึงความหลากหลายในตัวตนทางเพศด้วยเช่นกัน”
เมื่อเดือนมิถุนายน 2018 รัฐบาลญี่ปุ่นตัดสินใจสงเคราะห์เงินสนับสนุนประชาชนที่ต้องการการผ่าตัดแปลงเพศยกเว้นว่าจะมีอาการอื่นๆทางแพทย์ร่วมด้วย โดยจะช่วยให้ประชาชนกลุ่มเพศทางเลือกที่ต้องการจะแปลงเพศสามารถทำได้โดยมีค่าใช้จ่ายเพียง 30% ของค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ต้องการเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศจากทางรัฐจะต้องผ่านการตรวจสอบที่เข้มงวด โดยพวกเขาจะต้องเคยมีประวัติการทำหมันมาก่อน ต้องเป็นโสด ไม่มีลูก และต้องผ่านการประเมินสภาวะทางจิตอีกด้วย
การบังคับทำหมันในกลุ่มคนข้ามเพศไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ซึ่งประเทศอื่นๆที่มีการบังคับดังกล่าวก็เช่นประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กรีซ และอีกกว่า 10 ประเทศในแถบยุโรป จนกระทั่งวันที่ 6 เมษายน 2017 เมื่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปทำการตัดสินค้านข้อบังคับดังกล่าวและเรียกร้องให้ 22 ประเทศภายใต้อำนาจศาลทำการเปลี่ยนแปลงกฎหมายของตัวเอง
The Economist ได้กล่าวว่าการบังคับการทำหมันมี”ผลลัพธ์ด้านลบในเชิงสุพันธุศาสตร์” โดยมูลฐานของการบังคับดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นที่ประเทศสวีเดนในช่วงปี 1970 ว่าคนข้ามเพศนั้นมีอาการทางจิตและไม่สามารถเลี้ยงดูบุตรของตัวเองได้ และแม้ว่าสวีเดนเองจะนำข้อบังคับดังกล่าวออกไปเมื่อปี 2013 การบังคับทำหมันก็ได้กลายเป็นเรื่องปกติในหลายๆประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว