Gay Thai 4.0

Gay Thai 4.0

Be first to like this.

     ในยุคสมัยนี้เราได้ยินคำว่า 4.0 ต่อท้ายกันมากมาย แต่เรารู้ไหมว่าอะไรคือ 4.0 แล้วทำไมเราถึงเห็นคำว่า 4.0 ต่อท้ายหลาย ๆ สิ่ง หลาย ๆ อย่าง วันนี้ครูใหญ่จึงขอนำ 4.0 นี้ มาต่อท้ายกับเกย์บ้าง และจึงเป็นที่มาของ เกย์ 4.0 ครับ

ทำไมถึงต้องเกย์ 4.0 ? วันนี้ครูใหญ่จะพาเกย์ไทยทุกคนอัปเกรดตัวเองให้ก้าวทันยุค 4.0 และกลายร่างแบบเซเลอร์มูนเป็น เกย์ไทยยุคใหม่ 4.0 กันครับ

แต่ก่อนที่เราจะไปถึง 4.0 เราเคยสงสัยไหมว่า 1.0 / 2.0 / 3.0 มันหายไปไหน หรือว่ามันสร้างมา 4.0 แบบเก๋ ๆ เหมือนไอโฟน X ที่มาโดยไม่ต้องรอไอโฟน 9 อย่าเพิ่งมึนหัวแล้วปิดบทความนี้ หากว่าพร้อมจะทำความเข้าใจแบบสรุปย่อในมุมของครูใหญ่ก็มาอ่านกันเลย โควตาอ่าน 8 บรรทัดหมดแล้ว ถ้ายังไหวก็เลื่อนลงไปข้างล่างครับ อิอิ

เกย์ไทยยุค 1.0 เป็นยุคแรกเริ่มที่เกย์เราเริ่มมีตัวตนมากขึ้นในสังคม ในยุคนั้นเราจะรู้จักกันในคำว่า ตุ๊ด แต๋ว กะเทย ฯลฯ หากเปรียบให้เห็นง่ายก็คงเป็นยุคของภาพยนตร์เรื่อง เพลงสุดท้าย (2528) ฉันผู้ชายนะยะ (2530) ในยุคนั้นเราเริ่มเห็นการมีตัวละครที่เรียกว่า “กะเทย” เสียส่วนใหญ่ และภาพบนจอมักเป็นเรื่องราวของชีวิตที่ไม่สมหวังของเพศที่สาม แต่ก็มีภาพยนตร์ที่เรียกเสียงหัวเราะตามมา เช่น สตรีเหล็ก (2543) พรางชมพู (2545) ปล้นนะยะ (2547) เป็นต้น ในยุคนั้นเราเริ่มเห็นการมีตัวละครที่เป็นตัวตลก และสามารถสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนดู และเป็นภาพจำมาจนถึงทุกวันนี้

เมื่อมองในสังคม เราจะเห็นว่าในยุคนั้นมีคนเริ่มรู้จักตุ๊ดมากขึ้น เริ่มมีการล้อเลียนด้วยคำว่า อัดถั่วดำ หรือตุ๋ยตูด หรืออื่น ๆ ที่แสดงไปในเชิงแห่งการล้อเลียน บวกกับภาพจำของความตลกเฮฮาบนแผ่นฟิล์มทำให้สังคมมองว่า ตุ๊ด หรือกะเทย จะต้องสร้างเสียงหัวเราะ สร้างความเฮฮา นอกจากนี้เราจะเห็นว่าเกย์ไทยยุคนั้นจะยังไม่เฟื่องฟู การหาคู่อาจจะเป็นการพบเจอกันตามผับกลางคืน หรือตามสถานที่อโคจรต่าง ๆ ซึ่งหลายคนยังไม่กล้าแสดงออกและหลบซ่อนตัวอยู่ในเงามืดก็อาจจะต้องยอมแต่งงานกับผู้หญิงเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในสังคม

เกย์ไทยยุค 2.0 คือยุคที่เปลี่ยนภาพของชายรักชายโดยสิ้นเชิง คำว่า เกย์ (Gay) มีบทบาทมากขึ้น และเริ่มมีการใช้คำว่า ชายรักชาย มากขึ้น โดยภาพยนตร์ที่พลิกโฉมภาพลักษณ์ของชายรักชายคือภาพยนตร์เรื่อง รักแห่งสยาม (2550) ที่เปลี่ยนภาพลักษณ์ของตุ๊ด และกะเทย สู่ เกย์ แต่ยังคงมีภาพยนตร์ที่เน้นไปด้านความบันเทิง เช่น หอแต๋วแตก (2550) หรือ แต๋วเตะ ตีนระเบิด (2552) เป็นต้น

สังคมในยุคนั้นที่อินเทอร์เน็ตเริ่มมีบทบาทมากขึ้น การพูดคุยผ่าน MSN การสร้างสังคมออนไลน์ Hi5 ไปจนถึง facebook, twitter หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่น ๆ ที่มี ทำให้เริ่มมีเกย์ส่วนมากเปิดเผยตัวออกมา มีการแสดงออกกันมากขึ้น เริ่มมีคู่รักชายรักชายให้เห็นบ้างในสังคม ซึ่งมีการยอมรับได้ในส่วนหนึ่ง เริ่มมีการพบปะกันของกลุ่มชายรักชาย มีการวันไนท์สแตนด์เกิดขึ้นระหว่างกันมากมาย และในยุคนี้ถือเป็นยุคที่เอชไอวีเริ่มแพร่กระจายในกลุ่มที่ไม่มีการป้องกัน

เกย์ไทยยุค 3.0 เป็นยุคเฟื่องฟูที่มีรายการโทรทัศน์ มีซีรีส์ และเริ่มมีสาววายเกิดขึ้น มีผู้ที่คลั่งไคล้กลุ่มชายรักชาย มีความชอบที่จะเห็นผู้ชายสองคนรักกัน มีคนรู้จักคำว่า LGBTQ มากขึ้น (L = Lesbian, G= Gay, B = Bisexual, T = Transgender / Transsexual, Q = Queer) เป็นยุคที่สื่อที่มีเนื้อชายรักชายสามารถอยู่บนจอแก้ว (โทรทัศน์) ได้อย่างไม่แปลก ไม่ว่าจะ รายการเทยเที่ยวไทย (2554 – ปัจจุบัน) เลิฟซิคเดอะซีรีส์ (2557) มาจนถึง ไดอารีตุ๊ดซีส์ เดอะซีรีส์ (2559) โซตัส เดอะซีรีส์ (2560) รายการแดร็ก เรซ ไทย (2561) ฯลฯ รายการและซีรีส์ที่เป็นเรื่องราวของเกย์ หรือกะเทย ที่แบ่งแยกอย่างชัดเจน ทำให้สังคมเริ่มมีความเข้าใจและเริ่มใช้คำว่า “กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ” มากขึ้น

ในยุคนี้ เกย์ไทยใช้เทคโนโลยีมากมาย ไม่ว่าจะแอปพลิเคชั่นแชทเฉพาะกลุ่ม หรือที่หลายคนเรียกมันว่า แอปฯหาคู่ ไม่ว่าจะเป็น Grindr, JackD, Hornet, BlueD etc. ด้วยการสื่อสารที่เชื่อมโยงถึงกัน และเราระบุตัวตน “เกย์” ได้ง่ายขึ้น ทำให้เกย์เราหาคู่รัก หรือคู่นอน กันได้ง่ายขึ้น เกิดเป็นเครือข่ายเกย์ที่เกิดการ “กินกันเป็นวงกลม” และเมื่อได้กันง่าย ก็ “เท” กันง่ายเช่นกัน โดยยุคนี้มีเทคโนโลยีการป้องกันเอชไอวีที่มาในรูปแบบของยาต้าน ยา PrEP ยา PEP เป็นต้น ซึ่งการมีตัวยานี้ รวมไปถึงการมีอยู่ของแอปพลิเคชั่นเกย์ ทำให้หลายคนมองว่า เกย์ได้กันง่าย….จริงเหรอ?

สำหรับหัวใจหลักของบทความนี้
กับการตอบคำถามที่ว่า
เกย์ไทยยุค 4.0 คืออะไร?

     เกย์ไทยยุค 4.0 คือวันนี้ ตอนนี้ และอนาคตที่มันกำลังจะเป็นไป ตัวเราคือผู้ที่จะกำหนดไปด้วยกัน ครูใหญ่ไม่รู้ว่าอนาคตเกย์ไทยจะเป็นอย่างไร แต่จากสถานการณ์ตอนนี้ แม้ว่าหลายคนจะบอกว่าสังคมไทยคือสังคมที่เปิดอิสระเสรี สวรรค์ของชาวสีม่วง แต่หากมองกลับมายังเรื่องใกล้ตัว กลุ่มชายรักชายยังคงไม่มีสิทธิ์ในเรื่องง่าย ๆ เช่น การจดทะเบียนสมรส รวมไปถึงการอยู่ในหน้าที่การงานในบางสายอาชีพ ที่หลายคนยังคงนำภาพจำในอดีตมาเป็นตัวตัดสิน แม้ว่า WHO จะประกาศแก้ไขคู่มือ ICD-11 ว่า การมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิดไม่ถือว่าเป็นอาการป่วยทางจิต โดยการที่เพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด ได้ถูกลบออกหมวด ‘ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรม’ และย้ายไปอยู่ในหมวด ‘กรณีที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพทางเพศ’ แทน

นอกจากนี้ WHO ยังอธิบายอีกว่า ‘การมีเพศสภาพไม่สอดคล้องกับเพศกำเนิด’ มีหลักฐานพิสูจน์ชัดเจนว่าไม่ใช่อาการทางจิตเวช ซึ่งการระบุว่าคนข้ามเพศเป็นโรคหรือปัญหาสุขภาพจะเป็นการตีตราคนข้ามเพศอย่างร้ายแรง

ครูใหญ่มองว่า สังคมที่บอกว่าเปิดกว้างนั้นยังคงคาดหวังให้เกย์ไทยทำอะไรดี ๆ เพื่อสังคมอีกมากมาย แต่อยากให้มองกลับมาที่ตัวเอง ที่เราเองก็เป็นคนไม่ต่างอะไรจากเพศชายหรือเพศหญิง ที่เราก็มีความรู้สึกนึกคิด มีความผิดชอบชั่วดี มีความรัก มีความเกลียด สามารถทำผิดพลาด สามารถหกล้ม ร้องไห้ เสียใจ แต่ด้วยสังคมมักบอกว่า จะเป็นเกย์ก็ได้ แต่ขอให้เป็นคนดี มันคือการคาดหวังให้ชายรักชายเป็นคนดีเพียงอย่างเดียวซึ่งถือเป็นการฝากภาระเอาไว้ให้กับเกย์ไทย 

ครูใหญ่ยังเชื่อว่ามีเกย์หลายคนที่ไม่เก่ง ที่เป็นขโมย ที่เป็นขอทาน หรือเกย์ในมุมมืดอื่น ๆ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ไม่ว่าเพศไหนก็ย่อมมีสีดำด้วยกันทั้งนั้น แต่อยากให้เกย์ในมุมมืดมีกำลังใจ และหันมาร่วมกันทำให้ภาพลักษณ์ของเกย์ไทยในยุค 4.0 ที่เราจะร่วมสร้างไปด้วยกัน เป็นอีกหนึ่งพลังความดีที่จะส่งต่อและเชื่อมโยงกันและกัน สู่สังคมไทยที่เปิดรับเกย์ไทยอย่างแท้จริง

จะเป็นเกย์ 4.0 ยังไง? เรื่องนี้ง่าย ๆ เลย เพียงแค่เลิกเหยียดกันเอง เลิกเหยียดซ้อนเหยียด ให้เกียรติเกย์สาวเฉกเช่นเดียวกับเกย์แมน ไม่ว่าเขาจะอยู่ในบริบทใดก็ตาม ไม่คอยดูถูกเกย์คนอื่นที่สาวกว่าคุณ มาร่วมสร้างสังคมดี ๆ เริ่มที่จากตัวเองกันเถอะครับ

     ส่วนคำตอบของคำถาม เกย์ไทยยุค 4.0 คืออะไร ครูใหญ่ขอตอบว่า มันคืออนาคตใหม่ของพวกเรา ที่จะช่วยกันสร้างมันขึ้นมา ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และพัฒนาตัวเองสม่ำเสมอ หากพบกับข้อกังขาที่จะมีเรื่องเพศสภาพมาเป็นอุปสรรค ขอให้ทุกคนก้าวผ่านมันไป คนที่ดูถูกหรือเหยียดหยามเรา เมื่อเขากระทำเสร็จ เขาก็ลืมมันและจากมันไป มีแต่ปมที่เราสร้างขึ้นด้วยจิตสำนึกของเราเองที่จะผูกปมของเราเอาไว้ จงปลดปล่อยปมนั้น และทิ้งมันไป ตราบใดที่เราเป็นตัวเรา อาจจะไม่ต้องดีมาก แต่เป็นตัวเองแบบที่เป็น ก้าวผ่านกำแพงคำดูถูกเหยียดหยามให้ได้ และออกมาสู่แสงสว่างที่พร้อมจะส่องประกายให้ทุกคนได้เห็นสีขาวในตัวเรา ครูใหญ่ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ยังคงติดกับบางปัญหาในชีวิตฝ่าฟันมันไปให้ได้นะครับ

Related Stories

กินเบียร์ให้มีประโยชน์: คำยืนยันจากนักโภชนาการ ผู้ให้คำปรึกษา และนักปรุงเบียร์
สตรีราชาชาวแอฟริกันกับการท้าทายเพศไบนารีในยุคศตวรรษที่ 17
ตำนานชายแท้ที่กลัวการเป็นเกย์ถึงขั้นไม่เช็ดก้นตัวเอง
Quantcast